โครงการวาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม : ปี 2557

โครงการ คนรุ่นใหม่ร่วมใจ ต้านภัยมะเร็งเต้านม

โครงการวาโก้โบว์ชมพู สู้มะเร็งเต้านม 30 ก.ค. 2557

โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยจากข้อมูลสถิติโรคมะเร็งของประเทศไทย (Cancer in Thailand, 2007–2009) พบอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งเต้านมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในสตรีไทย (26.4 ต่อประชากรแสนคน) และ มีอัตราการเสียชีวิตและอัตราการ เกิดโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 3 จังหวัด ที่มีการพบอุบัติการณ์สูงสุดตามลำดับ คือ จังหวัด ชลบุรี กรุงเทพมหานคร และ ระยอง แม้ว่า ช่วงอายุที่พบอุบัติการณ์สูงสุดจะอยู่ที่ 50 – 55 ปี แต่จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งของประเทศไทย พบว่ามะเร็งเต้านมเกิดขึ้นได้ ตั้งแต่ อายุประมาณ 20 ปีขึ้นไป มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่สามารถทำการรักษาได้ผลดีและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ถ้าตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก



เนื่องจากกระบวนการกลายพันธุ์ของเซล จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นก้อนมะเร็งที่พบได้ทางคลินิกใช้เวลายาวนาน และกระบวนการดังกล่าว สามารถเกิดขึ้นตั้งแต่อายุน้อย เพื่อให้การรณรงค์ในการควบคุม ป้องกันโรคมะเร็งเต้านมได้ผลดียิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการพัฒนากระบวนการสื่อสาร และการตื่นตัวให้แก่กลุ่มประชาชนที่มีอายุน้อย วาโก้จึงร่วมกับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการ คนรุ่นใหม่ร่วมใจ ต้านภัยมะเร็งเต้านมขึ้น โดยให้นักศึกษาพยาบาลในทุกภูมิภาค เป็นผู้คิดค้นโครงการ เพื่อให้เกิดกระบวนการสร้างความตระหนัก การส่งเสริมองค์ความรู้ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนเป็นการพัฒนาทักษะในการค้นหามะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะต้น ในกลุ่มเป้าหมายใหม่ และสถาบันมะเร็งแห่งชาติจะคัดเลือกโครงการที่มีศักยภาพ นำไปพัฒนากระบวนการควบคุมและป้องกันโรคมะเร็งของไทยต่อไป

วัตถุประสงค์
  1. เพื่อเป็นการสร้างความตื่นตัว และขยายกลุ่มอายุในการรณรงค์การป้องกันมะเร็งเต้านม
  2. เปิดโอกาสรับแนวความคิด การสร้างสรรค์ผลงานผ่านรูปแบบนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความตระหนัก สามารถถ่ายทอด และเผยแพร่องค์ความรู้ด้าน โรคมะเร็งเต้านม ทั้งการตรวจคัดกรอง การป้องกัน โรคมะเร็งเต้านม ผ่านการจัดทำโครงการและประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น คลิปวีดีโอ, การลงพื้นที่ รูปแบบการ จัดโรดโชว์ หรือการสร้างสรรค์ชิ้นงาน และอื่น ๆ ให้กับประชาชน โดยผู้ที่สนใจกระบวนการหรือการนำเสนอผลงานดังกล่าวสามารถนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป
  3. เพื่อพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านมให้กลุ่มเป้าหมาย